รู้ถึง : อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) หมายถึงอะไร

by admin
1K views
1.อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE)

PPE ย่อมาจาก Personal Protective Equipment เป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่เพื่อป้องกันผู้ใช้งานจากอันตรายที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เกิด ความปลอดภัยจากในการทำงาน หรือเจ็บป่วย เช่น หมวกนิรภัย แว่นตานิรภัย ถุงมือ อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ที่อุดหู เป็นต้น PPE ถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การก่อสร้าง การผลิต และใช้เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้เสมอเมื่อจำเป็นต้องใช้ PPE คือ ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในกฎหมายจะใช้คำว่า อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

1. มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล มีอะไรบ้าง

มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หรือ PPE เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้สำหรับการออกแบบ การทดสอบ และการใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากอันตรายในสถานที่ทำงาน ซึ่งมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ได่แก่

  • มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 
  • มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization : ISO)
  • มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards : EN)
  • มาตรฐานประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards : AS/NZS)
  • มาตรฐาน สถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI)
  • มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards : JIS)
  • มาตรฐานสถาบัน ความปลอดภัยและอนามัยในการทํางานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH)
  • มาตรฐานสํานักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติ กรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา(Occupational Safety and Health Administration : OSHA)มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association : NFPA)

โดยการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ตามมาตรฐานดังกล่าว ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดหรือประเภทของงานที่ลูกจ้างปฏิบัติ

2.อุปกรณ์ความปลอดภัย

2. ประเภทของอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล มีหลายประเภทให้เลือกใช้ตามลักษณะของการใช้งานขึ้นอยู่กับว่าสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายจากอะไรโดยสามารถแบ่งได้เป็น

  • อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ ใช้สำหรับป้องกันศีรษะ จากการกระแทก การเจาะทะลุ อันตรายจากไฟฟ้า สารเคมีเหลว เช่น หมวกนิรภัย
  • อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา ใช้สำหรับป้องกันใบหน้าและดวงตาจากการกระทบกระแทกของของแข็ง การกระเด็นของสารเคมี อันตรายจากงานเชื่อม เช่น แว่นตานิรภัย แว่นครอบตา กระบังหน้า หน้ากากเชื่อม
  • อุปกรณ์ป้องกันมือและแขน ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับมือและแขน เช่น ถุงมือ ปลอกแขน ซึ่งมีหลายประเภทต้องเลือกใช้ให้ถูกกับประเภทของอันตราย
  • อุปกรณ์ป้องกันขาและเท้า ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับขาและเท้า เช่น รองเท้านิรภัย รองเท้ายาง
  • อุปกรณ์ป้องกันลำตัว ใช้ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลำตัวจากการกระเด็นของสารเคมี โลหะจากการหลอมเหลว อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นจัด อันตรายจากไฟไหม้ เช่น ชุดป้องกันสารเคมี ชุดกันไฟ ชุดทนความร้อน
  • อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบหายใจ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่เป็นอันตรายเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากแบบมีใส้กรอง SCBA
  • อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ใช้สำหรับป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบการได้ยิน เช่น Ear Plugs หรือ Ear Muffs
  • อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง ใช้สำหรับป้องกันอันตรายจากการตกจากที่สูง เช่น เข็มขัดนิรภัย สายช่วยชีวิต เชือกนิรภัย

นอกจากต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานและใช้งานให้ถูกประเภทเมื่อมีการใช้งานแล้วจะต้องทำความสะอาดและเก็บรักษาตามความเหมาะสมเพื่อให้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ข้อควรพิจารณาในการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของงานที่ทำและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาว่าจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ชนิดใด ได้แก่

  • ลักษณะของอันตราย : ประเภทของอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่จำเป็นต้องสวมใส่ขึ้นอยู่กับลักษณะของอันตรายที่มีอยู่ เช่น หากอันตรายที่เกิดขึ้นคือการรั่วไหลของสารเคมี  PPE ที่เหมาะสม ได้แก่ ถุงมือกันสารเคมี แว่นครอบตา หน้ากากสำหรับป้องกันระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
  • ระดับการป้องกันที่เหมาะสม : ระดับการป้องกัน ของ PPE แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับระดับของอันตรายที่มีอยู่ เช่น หากอันตรายนั้นเป็นสารเคมีที่มีความเข้มข้นสูง PPE ที่สวมใส่จะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงตามไปด้วย
  • ความพอดีและความสบาย : PPE ต้องมีขนาดที่พอดีและสวมใส่สบาย เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายและผู้สวมใส่ไม่รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัวเมื่อสวมใส่
  • ความสะดวกในการใช้งาน : PPE ควรใช้งานง่าย เพื่อให้สามารถใส่และถอดได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น
  • การบำรุงรักษาและการเปลี่ยน PPE : PPE แต่ละชนิดมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาและเปลี่ยนใหม่ตามความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่ายังคงสามารถป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การฝึกอบรมและคำแนะนำในการใช้งาน : ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ PPE ทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรมและคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้และการดูแลอุปกรณ์อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • การเก็บบันทึก : นายจ้างควรเก็บรักษาบันทึกการใช้และการบำรุงรักษา PPE เพื่อเป็นกาควบคุมและติดตามประสิทธิภาพของอุปกรณ์

3.การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

4. การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามกฎหมาย

การกำหนดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดขึ้นโดยไม่มีวัตถุประสงค์ การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลนอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยของผู้สวมใส่แล้ว ยังเป็นข้อกำหนดของกฎหมาย ที่ได้กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 โดยกำหนดไว้ในหมวด 2 การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแลดล้อมในการทำงาน มีรายละเอียดดังนี้

มาตรา 22 ให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและดูแลรักษาอุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งให้สามารถใช้งานได้ตามสภาพและลักษณะของงานตลอดระยะเวลาทำงาน

ในกรณีที่ลูกจ้างไม่สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงานนั้นจนกว่าลูกจ้างจะสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว นอกจากระบุไว้ในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 แล้ว ข้อกำหนดเกี่ยวกับ PPE ยังกำหนดไว้ในข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ. 2554 อีกด้วย

สรุป

อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่จัดหาและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่ และลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่และดูแลรักษาอุปกรณ์ ซึ่งหากนายจ้างไม่จัดหาและไม่ดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องอบรมให้ความรู้ให้ลูกจ้างสามารถสวมใส่และดูแลรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
  2. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง สัญลักษณ์เตือนอันตราย เครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ. 2554
  3. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554

เรื่องที่น่าสนใจ

เซฟตี้ .COM ผู้ให้บริการครบวงจรด้านความปลอดภัยในการทำงาน อบรมความปลอดภัย และ ตรวจรับรองวิศวกรรมในโรงงานอุตสาหกรรม

เพิ่มเพื่อน

Copyright @2024  เซฟตี้.com . Developed website and SEO by iPLANDIT