
อบรมไฟฟ้า หลักสูตรการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ลดราคา 50%
อบรมไฟฟ้าตามกฎหมายคืออะไร
การปฏิบัติงานกับไฟฟ้า หากผู้ที่ปฏิบัติงานไม่มีความรู้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานได้ จึงมีความจำเป็นต้องให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับการฝึกอบรม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานกับไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้านั้น ได้ถูกกำหนดไว้ในข้อ 4 ของกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 ได้กำหนดไว้ว่า
ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัยตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
และยังมีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่กำหนดเกี่ยวกับวิธีการฝึกอบรมเอาไว้ด้วย ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงรายละเอียดในการฝึกอบรมไฟฟ้าตามกฎหมายว่ามีอะไรบ้าง
ใครบ้างต้องอบรมไฟฟ้าตามกฎหมาย
กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ต้องฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานกับไฟฟ้าคือลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และได้ให้ความหมายไว้ว่า
“ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือหน้าที่อื่นในลักษณะเดียวกัน กับระบบไฟฟ้า บริภัณฑ์ไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้า ซึ่งหากสถานประกอบกิจการมีลูกจ้างที่ทำงานในลักษณะเดียวกับที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็ต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานดังกล่าวได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า
ตามที่กำหนดไว้ว่า “ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัยตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย” ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด
แต่หากลูกจ้างได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ถือว่าเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าแล้ว
อบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ต้องอบรมอะไรบ้าง
หลักสูตรฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานกับไฟฟ้า ได้กำหนดไว้ใน “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า” ได้กำหนดไว้ว่า ต้องมีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และอย่างน้อยต้องมีหัวข้อดังต่อไปนี้
- กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า
- สาเหตุและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
- การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
นอกจากหัวข้อที่กำหนดข้างต้นแล้ว หากลูกจ้างปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงจากลักษณะงานอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น การทำงานบนที่สูง การทำงานในบริเวณที่อาจเป็นอันตราย นายจ้างอาจจัดให้มีการฝึกอบรมหัวข้อวิชาที่เกี่ยวกับความเสี่ยงนั้นเพิ่มเติมจากที่กำหนดข้างต้น
อบรมความปลอดภัยในการทำงานกับไฟฟ้ามีข้อกำหนดอะไรบ้าง
หลักสูตรฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานกับไฟฟ้าให้กับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานกับไฟฟ้า มีข้อกำหนดตามกฎหมายดังนี้
- ห้องจัดอบรมหนึ่งห้อง มีผู้เข้าอบรมได้ไม่เกิน 60 คน และมีวิทยากรอย่างน้อย 1 คน
- ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตามหัวข้อวิชาที่กำหนด
- ให้มีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
- ออกหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม
นอกจากการจัดให้มีการฝึกอบรมแล้ว ต้องทำให้ถูกต้องตามข้อกำหนดที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ประโยชน์และสามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมมาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานมากที่สุด
เมื่อจัดอบรมเรียบร้อยแล้ว ต้องทำอย่างไร
เมื่อมีการจัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว นายจ้างจะต้องดำเนินการดังนี้
- จัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรมพร้อมรายชื่อวิทยากรเก็บไว้ที่สถานประกอบกิจการ
- แจ้งทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลา ที่ฝึกอบรมพร้อมรายชื่อวิทยากรต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยพื้นที่
- การแจ้งดังกล่าวให้แจ้งภายใน 15 วันนับแต่วันที่ฝึกอบรมเสร็จสิ้น
ในการดำเนินการหลังการฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะหากเรามีการจัดฝึกอบรมแต่ไม่ดำเนินการแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในพื้นที่ ก็ถือว่ายังปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
สรุป
การฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับลูกจ้าง นายจ้างสามารถจัดฝึกอบรมเองได้ หากมีวิทยากรที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ หรือหากนายจ้างไม่สามารถจัดฝึกอบรมเองได้ให้ผู้ที่ขึ้นทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้ฝึกอบรมดังกล่าวได้ ซึ่งคุณสมบัติของวิทยากรกำหนดไว้ในหมวด 3 วิทยากรฝึกอบรม ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า