ความปลอดภัยในการทำงาน หมายถึงอะไร นิยามและความหมาย

by admin
มาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทำได้อย่างไร

ความปลอดภัยในการทำงานหมายถึงอะไร

พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า

ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมายความว่า การกระทำหรือสภาพการทำงานซึ่งปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดการประสบอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยอันเนื่องจากการทำงานหรือเกี่ยวกับการทำงาน

ซึ่งความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความสบายทั้งกายและใจ เพราะหากเราสบายกายแต่มีความทุกข์ใจ ในขณะที่ปฏิบัติงานก็อาจจะเหม่อลอย วิตกกังวล กับเรื่องที่ไม่สบายใจ และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติงานได้

Occupational Health and Safety

นายจ้างมีหน้าที่อะไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 6 ให้นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้างมิให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย

ให้ลูกจ้างมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับนายจ้างในการดำเนินการและส่งเสริมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้างและสถานประกอบกิจการซึ่งในการดำเนินการให้เกิดความปลอดภัย นายจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อให้กิดความปลอดภัยในการทำงาน

นายจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อให้กิดความปลอดภัยในการทำงาน

จากข้อกำหนดของ พรบ.ความปลอดภัยข้างต้น จะเห็นว่า นายจ้างจะต้องดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้ปลอดภัย ซึ่งจะต้องดูแลทั้งหมด เรียกได้ว่าดูแลแบบครบวงจร เพื่อไม่ให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นภายในสถานประกอบกิจการ และลูกจ้างเองก็ต้องให้ความร่วมมือกับนายจ้างด้วยเช่นกัน โดยการทำงานตามกฎระเบียบ ข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการทำงาน หรือหากพบเห็นจุดที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายก็ต้องแจ้งหัวหน้างาน เพื่อให้ปรับปรุง แก้ไขให้อันตรายหมดไปก่อนที่จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 

ระเบียบข้อบังคับความปลอดภัยในการทำงาน

ความปลอดภัยในการทำงานเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความปลอดภัยในการทำงาน จะเกิดขึ้นได้เมื่อปราศจากภัยหรืออันตราย และไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

  1. การกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe action) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุถึง 85% ซึ่งมีคนเป็นตัวการหลักของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น
  • หยอกล้อเล่นกันขณะทำงาน
  • ไม่ทำงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้
  • ไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยในขณะที่ปฏิบัติงาน
  • ถอดครอบป้องกันอันตรายของเครื่องจักรออก
  • ไม่ปฏิบัติตามป้ายห้าม ป้ายเตือน ที่ติดไว้

ความปลอดภัยในการทำงาน Unsafe condition

  1. สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe condition) เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ 15% รองลงมาจาก การกระทำที่ไม่ปลอดภัย เช่น
  • เครื่องจักรไม่มีครอบป้องกันอันตรายในจุดหนีบ จุดหมุน
  • แสงสว่างในการทำงานไม่เพียงพอ
  • วางสิ่งของสูงเกินกำหนด
  • พื้นโรงงานขรุขระ เป็นหลุม เป็นบ่อ
  • สารเคมีฟุ้งกระจายเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
  • สถานที่ทำงานคับแคบ

ซึ่งหากเราสามารถขจัดในเรื่องของการกระทำที่ไม่ปลอดภัย และสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยได้ ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้น

ความปลอดภัยในการทำงาน

มาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทำได้อย่างไร

มาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ สามารถทำได้หลายวิธี ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ด้วย 3 มาตรการด้วยกัน ดังนี้

  1. การป้องกันที่แหล่งกำเนิดของอันตราย (Source)

เป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่แหล่งกำเนิดของอันตราย อันตรายตรงไหนแก้ที่ตรงนั้น เป็นการแก้ไขที่ตัวเครื่องจักร โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบเครื่องจักร หากเราออกแบบเครื่องจักรตามหลักของความปลอดภัย ก็สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น

  • การติดตั้งม่านแสงนิรภัย
  • การใช้ปุ่มเริ่มการทำงานแบบ Two Hand Switch
  • การติดตั้งการ์ดป้องกันอันตรายในจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ซึ่งการป้องกันที่แหล่งกำเนิดเป็นวิธีที่ได้ผลดีแต่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
  1. การป้องกันที่ทางผ่าน (Path) เป็นการแยกผู้ปฏิบัติงานกับแหล่งของอันตรายออกจากกัน เช่น
  • การเพิ่มระยะทางระหว่างคนกับเครื่องจักร
  • การกั้นห้องและติดแผ่นซับเสียง
  • การสับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ปฏิบัติงาน

การสวมใส่ PPE

  1. การป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Receiver) เป็นการป้องกันโดยการกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่อุปกรณ์

คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำได้ทันที แต่อาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะถึงแม้ว่าเราจะกำหนดให้พนักงานสวมใส่ PPE แต่หากขาดการควบคุม พนักงานก็มักจะละเลยและไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นวิธีที่ควรเลือกใช้เป็นลำดับสุดท้าย และใช้เป็นมาตรการชั่วคราวในระหว่างที่กำลังดำเนินการแก้ไขที่แหล่งกำเนิดของอันตราย 

นอกจากมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่กล่าวมาข้างต้นเราสามารถทำมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วยได้เช่น

  • การประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย
  • การส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในที่ทำงาน
  • การทำ Kaizen ด้านความปลอดภัย
  • การแก้ปัญหา Near miss เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

ซึ่งการกำหนดมาตรการการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ สามารถทำได้ แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ความร่วมมือและการควบคุมดูแลด้วยเช่นกัน 

สรุป

ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ทุกคนต้องร่วมมือกัน นายจ้างต้องดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างทุกคนให้เกิดความปลอดภัย และลูกจ้างต้องให้ความร่วมมือกับนายจ้างด้วยเช่นกัน หากสถานประกอบกิจการมีความปลอดภัย ย่อมผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ พนักงานทุกคนจะต้องได้รับการฝึก อบรมความปลอดภัย ตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละเรื่องเพื่อที่จะได้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

 

เรื่องที่น่าสนใจ

หลักสูตร จป.

หลักสูตรทั่วไป

เซฟตี้ .COM ผู้ให้บริการครบวงจรด้านความปลอดภัยในการทำงาน อบรมความปลอดภัย และ ตรวจรับรองวิศวกรรมในโรงงานอุตสาหกรรม

เพิ่มเพื่อน

Copyright @2024  All Right Reserved – Designed and Developed by เซฟตี้.com